วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วิธีการทำข้อสอบ



วิธีการทำข้อสอบ

๑.       การสอบข้อเขียน

ข้อสอบที่ใช้กันในการสอบข้อเขียน ได้แก่ ข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัย นอกจากนั้นวิธีการสอบที่มักจะใช้สอบก็คือ การสอบแบบปิดและเปิดตำรา วิชาไหนจะสอบแบบใดอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดและแจ้งให้นักศึกษาทราบก่อนสอบเสมอ นักศึกษาที่มีความรู้เท่ากันไม่ได้หมายความว่าจะได้คะแนนสอบเท่ากัน ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีทักษะที่ดีในการทำข้อสอบจะได้คะแนนสูงกว่าผู้ที่ขาดทักษะ ดังนั้น ต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีการทำข้อสอบเพื่อให้มีโอกาสได้คะแนนสูงขึ้น
๑.๑ การสอบแบบเปิดตำรา
                การสอบแบบนี้ผู้สอนจะอนุญาตให้ผู้สอบนำเอกสารต่าง ๆ เข้าไปในห้องสอบได้ โจทย์ส่วนใหญ่จะถามเกี่ยวกับความเข้าใจเนื้อหาของวิชาที่เรียนมากกว่าการท่องจำและอาจจะรวมถึงการนำความรู้หรือทฤษฎีไปประยุกต์ใช้อีกด้วย ซึ่งมีลักษณะ ๒ แบบ คือ
                ๑.๑.๑ ข้อสอบง่าย แต่จำนวนข้อสอบยากจนทำไม่ทัน
๑.๑.๒ ข้อสอบยาก จำนวนข้อน้อย แต่วัดความเข้าใจและความสามารถในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีต่าง ๆ
การทำข้อสอบแบบนี้ให้ได้ดี นอกจากจะต้องเข้าใจเนื้อหาอย่างดีแล้ว การฝึกฝนทำข้อสอบ หรือข้อสอบของปีที่ผ่านมาให้คล่องแคล่วก็สำคัญไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการเขียน และการเปิดหาหัวข้อที่ต้องการใช้ ได้อย่างรวดเร็ว โดยการจัดระบบของเอกสารหรือตำราที่ใช้สอบ เช่น การใช้คั่นหน้าของหนังสือ เป็นต้น
๑.๒ การสอบแบบปิดตำรา 
การสอบเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมักจะเป็นการวัดความรู้ ความเข้าใจ และความจำของการเรียนที่ผ่านมา ข้อสอบแบบนี้ซึ่งจะมีทั้งข้อสอบแบบปรนัยและข้อสอบแบบอัตนัย ส่วนใหญ่จะทดสอบความเข้าใจและความจำของผู้สอบ
๑.๓ ประเภทของข้อสอบข้อเขียน
๑.๓.๑ ข้อสอบแบบปรนัย คือข้อสอบที่มีทั้งคำถามและคำตอบ โดยคำตอบจะมี ๔  ๕ ตัวเลือก ( Choices ) ให้เลือกตอบ แต่จะข้อจะมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบหรือเพียงตัวเลือกเดียวเท่านั้น มีขั้นตอนในการทำข้อสอบดังนี้
๑.๓.๑.๑ อ่านคำสั่งอย่างละเอียด ทำเครื่องหมายให้ตรงตามที่คำสั่งระบุไว้อย่างเคร่งครัดและให้ตรงกับข้อคำถาม
๑.๓.๑.๒ ทำข้อสอบที่เราทำได้ก่อน ส่วนข้อที่ยังทำไม่ได้ ให้ทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ไว้ให้ชัดเจน ผ่านไปทำข้ออื่นก่อน เพระบางครั้งคำตอบในข้ออื่นอาจจะช่วยให้เราตอบข้อที่เรายังทำไม่ได้ แล้วกลับไปทำข้อนั้น การทำสัญลักษณ์จะทำให้เกิดจุดเด่นที่เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าเราข้ามข้อไหนมาบ้าง
๑.๓.๑.๓ กรณีที่เราไม่รู้คำตอบจริง ๆ อาจจะต้องอาศัยการคาดเดา ซึ่งใช้วิธีต่อไปนี้อาจจะช่วยได้บ้าง
๑.๓.๑.๓.๑ วิธีการตัดตัวเลือก คือ กำจัดคำตอบข้อที่ผิดอย่างชัดเจนออกไปก่อน ทำให้เหลือตัวเลือกน้อยลง ถ้าเดาโอกาสถูกก็จะสูงขึ้น 
๑.๓.๑.๓.๒ คำตอบที่มีความหมายคล้ายกันมักจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ( แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป )
๑.๓.๑.๓.๓ คำตอบที่มีความหมายกว้างครอบคลุมข้ออื่น ๆ มักจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ( แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป )
๑.๓.๑.๓.๔ คำตอบที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกัน ไม่คำตอบใดก็คำตอบหนึ่งมักจะเป็นตัวเลือกที่ถูกต้อง ( แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป )
๑.๓.๑.๓.๕ คำตอบที่ยาวที่สุดหรือสั้นที่สุดก็มักจะเป็นคำตอบที่ถูก ทั้งนี้ ให้สังเกตจากคำตอบข้อที่เราทำได้มาเป็นแนวโน้ม ( แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป )
๑.๓.๑.๓.๖ คำตอบแรกที่นึกขึ้นได้มักจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์
๑.๓.๒ ข้อสอบแบบอัตนัย ข้อสอบแบบนี้ไม่มีคำตอบให้เลือก ผู้สอบจะต้องคิดคำตอบเองทั้งหมด การทำข้อสอบแบบนี้ให้ได้คะแนนดี ๆ มีวิธีดังนี้
๑.๓.๒.๑ อ่านข้อสอบทั้งหมดอย่างระมัดระวัง และแบ่งเวลาในการทำข้อสอบ
ตรวจดูว่ามีเวลาทำข้อสอบนานเท่าไร ข้อสอบมีจำนวนกี่ข้อ คะแนนในแต่ละข้อเท่าไร ( กรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ ให้สันนิษฐานว่าคะแนนเท่ากันทุกข้อ ) ข้อไหนยาก ข้อไหนง่ายสำหรับเรา จากนั้นเราจะมีข้อมูลในการคำนวณเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อว่าต้องใช้เวลาและเขียนรายละเอียดมากน้อยเท่าไร เพื่อที่จะทำข้อสอบได้ทัน และมีเวลาเหลือสำหรับการทบทวน
ข้อไหนทำจนหมดเวลาเฉลี่ยแล้วยังทำไม่เสร็จหรือคิดไม่ออกให้เว้นช่องว่างหรือทำสัญลักษณ์เพื่อกันลืมไว้ ผ่านไปทำข้ออื่นก่อน และกลับมาคิดทบทวนและลงมือทำอีกรอบหนึ่ง ผู้เขียนแนะนำให้แบ่งเวลาให้ ๕  ๑๐ นาทีก่อนส่งข้อสอบเสมอ สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบ ตรวจดูชื่อ  นามสกุล และเลขที่สอบหรือเลขประจำตัว
                                ๑.๓.๒.๒ ตอบให้ตรงคำถาม 
อ่านคำถามให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจให้อ่านซ้ำ ๆ จนกว่าจะเข้าใจคำถาม และสำรวจคำถามว่าผู้ออกข้อสอบต้องการคำตอบอะไร รายละเอียดมากน้อยแค่ไหน แล้วตอบคำถามโดยมีรายละเอียดดังนี้
๑.๓.๒.๒.๑ ตอบอย่างสั้นหรือกระชับพอได้ใจความ เมื่อคำถามมีว่า บอกชื่อ ระบุ หรือเขียนเป็นข้อ ๆ แต่ไม่ควรสั้นจนไม่ได้เนื้อความครบประเด็น
๑.๓.๒.๒.๒ ตอบอย่างละเอียดและมีประเด็นที่ชัดเจน เมื่อคำถามมีว่า เปรียบเทียบ อธิบาย บรรยาย วิจารณ์ หรือ ทำไม ในกรณีให้บอกเหตุผล แต่ไม่ควรมีแต่น้ำจนคำตอบยาวเยิ่นเย้อไม่มีประเด็นที่ชัดเจน
บางครั้งผู้สอบจะกำหนดจำนวนช่องว่างสำหรับให้เขียนคำตอบมาให้ ควรเรียบเรียงความคิดและเขียนคำตอบให้พอดีกับช่องว่างนั้น ขณะที่กำลังอ่านคำสั่ง ถ้ามีคำตอบข้อใดก็ตามเข้ามาในสมองให้รีบเขียนคำตอบนั้นทันทีแบบย่อสั้น ๆ ลงในกระดาษคำถามเพื่อกันลืม
                                ๑.๓.๒.๓ ทำข้อที่ทำได้ และที่ได้คะแนนมากก่อน
ทำข้อสอบข้อที่ทำได้ก่อน เพราะจะทำให้มั่นใจในการทำข้อสอบและยังมีเวลาเหลือไปคิดข้ออื่น ๆ
                                ๑.๓.๒.๔ เขียนให้น่าอ่าน
ก่อนที่จะลงมือเขียนคำตอบต้องเรียบเรียงความคิดและวางโครงร่างคร่าว ๆ ว่า มีหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยอะไรบ้าง ควรเขียนข้อมูลละเอียดแค่ไหน เรียงลำดับก่อนหลังตามความสำคัญ จากนั้นเริ่มเขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย เว้นวรรคให้ชัดเจน และย่อหน้าให้ถูกต้องตามประเด็น ไม่ควรเขียนวกไปวนมา และกรุณาอย่าใช้ภาษาพูด พยายามใช้แผนภูมิ แผนภาพ หรือตารางประกอบ ถ้าโจทย์นั้นอำนวย เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำเสนอความคิดของเราให้แก่ผู้ตรวจอย่างชัดเจน
๒.     การสอบปากเปล่า

การสอบในลักษณะนี้จะไม่ค่อยใช้ในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี เพราะต้องสอนทีละคนหรือแบ่งกลุ่ม ๒ ๓ คน จึงทำให้เสียเวลาในการสอบมาก วิชาที่ใช้วิธีการสอบแบบนี้ได้แก่ วิชาโครงงานหรือปริญญานิพนธ์ ซึ่งการจะสอบผ่านหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผลงานและการเรียบเรียงความรู้มาเป็นคำตอบนั่นเอง การสอบลักษณะนี้นักศึกษาจะเป็นผู้นำเสนอผลงานของตนเองแล้วตอบข้อซักถามต่ออาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้สงสัยในงานชิ้นนั้น ๆ
๒.๑ ขั้นตอนการเตรียมตัวสอบปากเปล่า
๒.๑.๑ เตรียมสื่อที่จะนำเสนอให้ดีและดึงดูดความสนใจ ต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง จัดลำดับเป็นขั้นตอน ใช้ตัวหนังสือ รูปภาพ หรือแผนภูมิที่มีขนาดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการใช้ตัวหนังสือสีอ่อน หรือสีที่ใกล้เคียงกับพื้นหลัง เพราะจะทำให้เห็นได้ไม่ชัดเจน
                ๒.๑.๒ เตรียมตัวก่อนสอบ
                                ๒.๑.๒.๑ ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นเป็นอย่างดี
                                ๒.๑.๒.๒ จัดเรื่องที่พูดกับเวลาให้เป็นไปตามกำหนดของการสอบ
๒.๑.๒.๓ รู้ว่าข้อมูลไหนคือประเด็นหลัก ส่วนใดเป็นประเด็นปลีกย่อย ประเด็นไหนที่ควรพูดเน้น
๒.๑.๒.๔ เตรียมคำถามและคำตอบไว้ล่วงหน้าตามที่คาดว่าอาจจะเป็นข้อสอบได้
๒.๑.๒.๕ ฝึกพูดนำเสนอหลาย ๆ ครั้ง เพื่อหาข้อบกพร่องและข้อควรปรับปรุงแก้ไข อีกทั้งยังทำให้นักศึกษาพูดได้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัด และประหม่าน้อยลง แสดงว่าเรามีความรู้ในเรื่องที่นำเสนอและเตรียมตัวมาอย่างดี
                ๒.๑.๓ ขณะสอบ
ขณะที่เราเริ่มต้นพูด ผู้คุมสอบหรือผู้ซักถามซึ่งอาจจะเป็นอาจารย์หรือคณะกรรมการทุกคนจะมองมาที่นักศึกษา อาการปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับทึกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์น้อยคือ อาการประหม่า พูดไม่ออก หัวใจเต้นแรงและเร็ว บางคนอาจจะถึงขั้นเป็นลมและหน้ามืด การแก้ไขทำได้หลายวิธี เป็นต้นว่า หลายใจลึก ๆ ยาว ๆ เข้าปิดสัก ๒  ๓ ครั้ง แล้วเริ่มต้นพูดช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน วิธีนี้จะช่วยเปิดช่องลมให้กับท่อเสียงบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ เส้นเสียงให้คลายตัว จะช่วยให้ผ่อนคลายและระงับความประหม่า หลังจากนั้นผู้นำเสนอควรปฏิบัติตามขั้นตอน
                                ๒.๑.๓.๑ ข้อควรปฏิบัติขณะสอบ
๒.๑.๓.๑.๑ พูดด้วยน้ำเสียงที่ดัง ฟังชัด ชัดเจน ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป พูดตามลำดับหัวข้อเป็นขั้นตอน
๒.๑.๓.๑.๒ ไม่ควรก้มมองดูข้อมูลหรืออ่านข้อมูลตลอดเวลา แต่ควรมองอาจารย์หรือคณะกรรมการบ้างเป็นระยะ ๆ ไม่ควรจ้องตา แต่ให้ประสานสายตาผ่าน ๆ
๒.๑.๓.๑.๓ รักษาเวลาตามกำหนด ไม่ควรพูดเกินเวลาที่กำหนด เพราะจะน่าเบื่อและทำให้เสียคะแนน
๒.๑.๓.๑.๔ ฟังคำถามจนจบและทำความเข้าใจ ( ห้ามพูดแทรก ) หยุดคิด ประมาณ ๑  ๒ วินาที แล้วจึงตอบคำถม โดยให้กระชับและตรงประเด็น หากไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลในการตอบ ขอให้กล้ายอมรับและบอกว่าจะไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยน้ำเสียงที่สุภาพจริงใจ ถ้ายังมีการสอบครั้งต่อไป ก็ให้นำข้อมูลนั้นมาเสนอ แต่ถ้าไม่มีต้องทำใจยอมรับและคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เนื่องจาก การทำงานนำเสนอแต่ละครั้ง จะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเสมอ ถ้าเตรียมตัวมาอย่างดี โอกาสที่จะได้คะแนนดี ๆ ก็มีสูงมาก ฉะนั้น ไม่ควรละเลยที่จะเตรียมตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น